สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครนายก
เลขที่ 182/87 หมู่ที่ 1 ถนนสุวรรณศร ตำบลท่าช้าง
อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก 26000
โทรศัพท์ : 037-312-707 Email : ny_ops@moc.go.th
นครนายก เมืองน่าอยู่
https://nakhonnayok.moc.go.th/?pv=26
จังหวัดนครนายก
นครนายกเป็นจังหวัดหนึ่งในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง พื้นที่ของนครนายกปรากฏหลักฐานว่าเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีการขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ในยุคนั้น เช่น ขวานหินทั้งชนิดมีบ่าและไม่มีบ่า ลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว หินดุ แท่นหินเขียว แวดินเผา ขวานสำริด สันนิษฐานว่านครนายกเคยเป็นเมืองโบราณที่มีอายุสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยในสมัยทราวดี จากแหล่งโบราณ “บ้านดงละคร” ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองนครนายกไปทางทิศใต้ระยะทาง ๘ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเนินดินสูงคล้ายเกาะ เนื้อที่ประมาณ ๖ ตารางกิโลเมตร มีคันดินสูงล้อมรอบเป็นวงรี ด้านนอกคันดินมีคูน้ำล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง มีประตูเข้าออก ๔ ประตู โดยเมืองนี้อาจมีพัฒนาการและอายุร่วมสมัยกับเมืองศรีมโหสถในจังหวัดปราจีนบุรี และเมืองพระรถในจังหวัดชลบุรี ซึ่งโบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีหลายยุคหลายสมัยด้วยกัน ประกอบด้วย ระฆังหินสมัยทราวดี พระพุทธรูปสมัยลพบุรี ภาชนะดินเผาสมัยสุโขทัย และอยุธยา เป็นต้น ในปี พ.ศ. ๑๘๙๓ สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยากำหนดให้เมืองนครนายกเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศตะวันออก (เมืองลพบุรีเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศเหนือ เมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศใต้ และเมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศตะวันตก ระยะทางจากเมืองหน้าด่านถึง ราชธานีกรุงศรีอยุธยาใช้เวลาเดินทาง ๒ วัน) ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ตัดเขตท้องที่เมืองลพบุรีทางตะวันออกกับเขตท้องที่เมืองนครนายกทางตะวันตก รวมกันตั้งขึ้นเป็นเมืองสระบุรี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๔๕ ทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ เรียกว่า การปกครองมณฑลเทศาภิบาล จัดตั้งมณฑลปราจีนบุรี ประกอบด้วย เมืองปราจีนบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองนครนายก เมืองพนมสารคาม เมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมือง บางละมุง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ให้ยุบรวมอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ไปรวมกับจังหวัดสระบุรี และให้ยุบรวมอำเภอเมืองนครนายก อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลีไปรวมกับจังหวัดปราจีนบุรี
ประวัติของชื่อ “นครนายก”เป็นราชธานี มีข้อสันนิษฐาน ๒ ประการ ดังนี้ ในสมัยก่อนดินแดนของนครนายกเป็น ป่ารกชัฏมีไข้ป่าชุกชุมผู้คนจึงพากันอพยพไปอยู่ที่อื่นจนเกือบเป็นเมืองร้าง ต่อมามีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันว่าในยุคสมัยใด (แต่ก่อนสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง แห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะชื่อเมืองนครนายกปรากฏมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองแล้ว) ต้องการที่จะจูงใจราษฎรให้เข้ามา หักร้างถางพงทำมาหากินอยู่อาศัยในบริเวณนี้จึงให้ยกเว้นเก็บอากรค่านา จึงเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองนา–ยก” และเป็นเมืองนครนายก เหตุผลที่สอง คือ สมัยกรุงศรีอยุธยา การปกครองในเมืองหลวงใช้ระบบจตุสดมภ์ ส่วนการปกครองหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก ในหัวเมืองด้านเหนือมีสมุหนายก ปกครองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร ในหัวเมืองด้านใต้มีสมุหกลาโหมปกครองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร เมืองนครนายกนั้นเดิมอยู่ในสังกัดสมุหกลาโหม ภายหลังถูกโอนให้อยู่ในสังกัดสมุหนายก พื้นที่นี้จึงได้ชื่อว่านครนายกนับแต่นั้นเป็นต้นมา